สรุป Timeline มาตรการทรัมป์ป่วนโลก นับตั้งแต่รับตำแหน่ง 20 ม.ค. ออกมาตรการอะไรแล้วบ้าง

2025-04-08 HaiPress

นับตั้งแต่ วันที่ 20 ม.ค. 68 ที่ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ออกมาตรการการค้าอะไร มาป่วนโลก ป่วนเศรษฐกิจไทยบ้าง พาไปติดตาม Timeline มาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริกา กัน

อย่างที่เรารู้กันล่วงหน้าอยู่แล้วว่า การเข้ามาของ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ จะทำให้โลกปั่นป่วน ซึ่งนับตั้งแต่ วันที่ 20 ม.ค. 68 ทรัมป์ ได้ออกมาตรการการค้าอะไร มาป่วนโลก ป่วนเศรษฐกิจไทย พาไปติดตาม Timeline มาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริกา สมัยรัฐบาล ทรัมป์ 2.0 กัน

20 ม.ค. 68 ออกบันทึกคำสั่งประธานาธิบดี America First Trade Policy ประกอบด้วยเนื้อหาสำคัญ คือ การแก้ไขการค้าที่ไม่เป็นธรรม ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) และประเด็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลภายในเดือน เม.ย. 68

1 ก.พ. 68 เก็บภาษีศุลกากรอีก 25% กับสินค้านำเข้าทุกชนิดจากแคนาดาและเม็กซิโก ยกเว้นสินค้าพลังงานจากแคนาดาที่เก็บอีกในอัตรา 10% โดยเดิมให้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 68 แต่ได้เลื่อนออกไปอีก 1 เดือน ให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 4 มี.ค. 68 และเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรอีก 10% กับสินค้านำเข้าจากจีนทุกชนิด

3 ก.พ. 68 เลื่อนการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าของแคนาดา และเม็กซิโก จากกำหนดเดิมเป็นเวลา 1 เดือน

10 ก.พ. 68 เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรอีก 25% กับสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ และสินค้าอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากทุกประเทศ พร้อมกับยกเลิกสิทธิพิเศษและโควตานำเข้าแบบปลอดภาษีศุลกากรทั้งหมดมีผลใช้บังคับในวันที่ 12 มี.ค. 68

13 ก.พ. 68 มอบหมายหน่วยงานดำเนินการตรวจสอบ เพื่อคำนวณและกำหนดอัตราภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ในอัตราที่เท่ากัน กับคู่ค้าแบบรายประเทศ โดยพิจารณาจากอัตราภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่ประเทศคู่ค้ามีต่อสหรัฐอเมริกา

(1) อัตราภาษีศุลกากรนำเข้าที่ประเทศคู่ค้าจัดเก็บกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา

(2) ภาษีประเภทอื่นที่ไม่เป็นธรรมและมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อธุรกิจ แรงงาน และผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม

(3) มาตรการ กฎระเบียบ และอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ ที่มิใช่ภาษี ซึ่งเป็นภาระต่อธุรกิจของสหรัฐอเมริกาในต่างประเทศ ครอบคลุมทั้งนโยบายเกี่ยวกับการนำเข้า มาตรการ SPS มาตรการทางเทคนิค การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การอุดหนุนการส่งออก การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อุปสรรคต่อการค้าดิจิทัล และการต่อต้านการแข่งขันทางการค้า

(4) นโยบายบิดเบือนค่าเงิน นโยบายกดค่าแรง และนโยบายสนับสนุนธุรกิจภายในประเทศ ที่ทำให้ธุรกิจของสหรัฐอเมริกาเสียเปรียบ

(5) นโยบายหรือมาตรการอื่น ๆ ที่ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) เห็นว่า เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงตลาด และการแข่งขันอย่างเป็นธรรมของสหรัฐอเมริกา

20 ก.พ. 68 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการทบทวนและระบุการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้าในลักษณะรายประเทศ (country-by-country basis) และริเริ่มการดำเนินการที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อประเมินความเสียหายจากการค้าที่ไม่เป็นการต่างตอบแทนของประเทศคู่ค้าต่อสหรัฐอเมริกา ตามบันทึกคำสั่งประธานาธิบดี America First Trade Policy โดยเปิดรับฟังความเห็นจนถึงวันที่ 11 มี.ค. 68

25 ก.พ. 68 ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ มีคำสั่งฝ่ายบริหารให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เปิดไต่สวนการนำเข้าทองแดง อาศัยอำนาจตามมาตรา 232 ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act 1962 เพื่อประเมินภัยคุกคามและผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติที่เกิดจากการนำเข้าทองแดง โดย ปธน. ให้เวลาไต่สวนและพิจารณาภายใน 270 วัน แล้วรายงานผลให้ ปธน.

1 มี.ค. 68 ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ มีคำสั่งฝ่ายบริหารให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เปิดไต่สวนการนำเข้าไม้ (timber) ไม้แปรรูป (lumber) และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ (derivative products) อาศัยอำนาจตามมาตรา 232 ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act 1962 เพื่อประเมินภัยคุกคามและผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติที่เกิดจากการนำเข้าสินค้าข้างต้น โดย ปธน. ให้เวลาไต่สวนและพิจารณาภายใน 270 วัน แล้วรายงานผล ให้ ปธน.

3 มี.ค. 68 ปรับการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรจากเดิมที่เพิ่มอีก 10% เป็นเพิ่มอีก 20% กับสินค้านำเข้าจากจีนทุกชนิด โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 68

4 มี.ค. 68การเพิ่มภาษีศุลกากรอีก 25% กับสินค้านำเข้าจากแคนาดา และเม็กซิโก และอีก 10% กับสินค้านำเข้าจากจีน มีผลใช้บังคับ

6 มี.ค. 68– ไม่ขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา ที่ใช้สิทธินำเข้าภายใต้ความตกลง USMCA ซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้ Chapter 98 Subchapter XXIII ครอบคลุมสินค้าผลิตภัณฑ์ จากนม น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล

– ไม่ขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา ที่ใช้สิทธินำเข้าภายใต้ความตกลง USMCA ซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้ Chapter 99 Subchapter XXII ครอบคลุมสินค้าที่กว้างขวาง

– ปรับการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรกับสินค้าโพแทซที่นำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา โดยลดจากที่ปรับเพิ่ม 25% เหลือปรับเพิ่มเพียง 10%

12 มี.ค. 68การเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรอีก 25% กับสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ และสินค้าอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากทุกประเทศ พร้อมกับยกเลิกสิทธิพิเศษและโควตานำเข้าแบบปลอดภาษีศุลกากรทั้งหมด มีผลใช้บังคับ

24 มี.ค. 68– เก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 25% กับสินค้านำเข้าทุกชนิดจากประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากเวเนซุเอลา ทั้งจากการนำเข้าทางตรงและทางอ้อมผ่านทางประเทศที่สาม ด้วยการให้เหตุผลไม่สนับสนุนอาชญากรรมข้ามชาติที่มีถิ่นจากเวเนซุเอลา

– ให้อำนาจ รมว.ต่างประเทศ โดยปรึกษาร่วมกับ รมว.คลัง รมว.พาณิชย์ รมว.มาตุภูมิ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา สามารถพิจารณาจัดเก็บภาษีกับประเทศใดหรือไม่ ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 68 เป็นต้นไป

– หากประเทศใดถูกพิจารณาแล้วให้สหรัฐอเมริกา ต้องเก็บภาษีในอัตรา 25% นั้น จะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันสุดท้ายที่ประเทศนั้นนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากเวเนซุเอลา หรือโดยดุลพินิจของ รมว.พาณิชย์ ที่ปรึกษาร่วมกับ รมว.คลัง รมว.มาตุภูมิ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา

– ให้ รมว.ต่างประเทศร่วมกับ รมว.พาณิชย์ จัดทำรายงานผลเป็นระยะเสนอต่อ ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ถึงการประเมินประสิทธิภาพของภาษี และการติดตามการดำเนินการของรัฐบาล ปธน. Maduro ของเวเนซุเอลา โดยฉบับแรกให้รายงานผลภายใน 180 วัน นับจากวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และหลังจากนั้นต้องมีการรายงานทุก ๆ 180 วัน อย่างต่อเนื่องมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 68

อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบ ไม่พบสถิตินำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปของไทยจากเวเนซุเอลาโดยตรง

26 มี.ค. 68– เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรอีก 25% กับสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์บางประเภทที่นำเข้าจากทุกประเทศ ได้แก่ เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องยนต์ เกียร์และชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อน และชิ้นส่วนระบบไฟฟ้า

– สำหรับรถยนต์ที่ใช้สิทธินำเข้าภายใต้ความตกลง USMCA ผู้นำเข้าสามารถแสดงรายละเอียดของชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อให้ได้รับการคำนวณอัตราภาษีศุลกากร โดยหักมูลค่าของชิ้นส่วนที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาออก แล้วให้คำนวณเฉพาะส่วนที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐอเมริกา

– ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตภายใต้เงื่อนไขของความตกลง USMCA จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีศุลกากร โดยสินค้ารถยนต์มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 68 และสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 68

2 เม.ย. 68 – เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศอีก 10% ในลำดับแรก ตั้งแต่วันที่ 5-8 เม.ย. 68 (MFN rate + 10%)- ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 68 เป็นต้นไป สินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่ระบุไว้ใน Annex I ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ใน individualized reciprocal higher tariff จะถูกปรับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มในอัตราของประเทศตนเองที่ระบุไว้ใน Annex I(MFN rate + rate ที่ประกาศใน Annex I)

– สหรัฐอเมริกา ปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรไปจนกว่าจะเห็นว่า ความไม่สมดุลทางการค้าได้รับการแก้ไข

– การปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรที่เป็นไปตามคำสั่งประธานาธิบดีก่อนหน้านี้ ให้ประกาศนั้น ๆ ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ และการบังคับใช้ให้เป็นไปตามคำสั่งนั้น

– การปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรนี้เป็นไปเพื่อใช้บังคับกับสินค้าที่มีส่วนประกอบที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิด หรือ local content จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งหมายถึง local content อย่างน้อยร้อยละ 20 ของมูลค่าสินค้า

– สหรัฐอเมริกาอาจดำเนินมาตรการเพิ่มเติม หากจำเป็น และหากการดำเนินการปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรนี้ยังไม่สามารถแก้ไขภาวะฉุกเฉินความไม่สมดุลทางการค้า หรือมีการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น หรือ ***ความสามารถทางการผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกายังคงไม่ได้รับการแก้ไข***

– หากประเทศใดมีการตอบโต้ทางการค้าจากมาตรการปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกา ก็จะดำเนินการปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรขึ้นอีก หรือขยายขอบเขตของสินค้าที่ปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากร

– คำสั่งฝ่ายบริหารฉบับนี้จะยังไม่รวมสินค้า

(1) ทองแดงกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวน ตามมาตรา 232

(2) ยาและเวชภัณฑ์ เป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร ตามเอกสาร General Notes 13 ของ HTS

(3) เซมิคอนดักเตอร์

(4) ผลิตภัณฑ์จากไม้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวน ตามมาตรา 232

(5) แร่ธาตุหายากเชิงยุทธศาสตร์

(6) พลังงานและผลิตภัณฑ์ด้านพลังงาน

นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายกเลิกการให้สิทธิยกเว้นภาษีศุลกากรภายใต้ duty-free de minimis treatment สำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ ที่นำเข้าจากจีนและฮ่องกง ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 68 โดยจะต้องเสียภาษีศุลกากรในอัตรา 30% ของมูลค่าสินค้า หรือ 25 ดอลลาร์ต่อชิ้น และจะเพิ่มเป็น 50 ดอลลาร์ต่อชิ้น หลังจากวันที่ 1 มิ.ย. 68 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 5-8 เม.ย. 68 สินค้าที่นำเข้าจากไทยจะถูกเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรอีก 10% จากอัตราภาษีศุลกากรเดิมที่สหรัฐอเมริกา เคยเรียกเก็บจากไทย (MFN rate + 10%) ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 68 เวลา 00.01 น. EDT สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มอีก 10% นั้น จากทุกประเทศ ทั้งนี้ จะมีข้อยกเว้นให้สำหรับสินค้าที่ขึ้นเรือแล้ว และอยู่ระหว่างการขนส่งมายังสหรัฐ (loaded onto a vessel at the port of loading and in transit on final mode of transit) ก่อนเวลา 00.01 น. ของวันที่ 5 เม.ย. 68 โดยจะไม่ถูกจัดเก็บในอัตราเพิ่มเติมนี้ แม้ว่าจะนำเข้ามาบริโภคหรือนำออกจากคลังสินค้าเพื่อเข้ามาบริโภคหลังจากวันที่นี้ก็ตาม

– ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 68 สินค้าที่นำเข้าจากไทยจะถูกปรับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมในอัตรา 36% จากอัตราภาษีศุลกากรเดิมที่สหรัฐอเมริกา เรียกเก็บจากไทย (MFN rate + 36%) ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 68 เวลา 00.01 น. EDT สหรัฐจะปรับอัตราภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บเพิ่ม 10% นั้น เป็นอัตราภาษีต่างตอบแทน (reciprocal tariff) ที่กำหนดไว้ของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ จะมีข้อยกเว้นให้สำหรับสินค้าที่ขึ้นเรือแล้ว และอยู่ระหว่างการขนส่งมายังสหรัฐ (loaded onto a vessel at the port of loading and in transit on final mode of transit) ก่อนเวลา 00.01 น. ของวันที่ 9 เม.ย. 68 โดยจะไม่ถูกจัดเก็บในอัตราเพิ่มเติมนี้ แม้ว่าจะนำเข้ามาบริโภคหรือนำออกจากคลังสินค้าเพื่อเข้ามาบริโภคหลังจากวันที่นี้ก็ตาม ทั้งนี้ อากร ค่าธรรมเนียมอื่นใด ที่เคยโดนเรียกเก็บ จะถูกเรียกเก็บเช่นเดิม

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 ข่าวเทคโนโลยีธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap