‘พิชัย’ เปิดเวที ‘เดลินิวส์ ทอล์ก’ ชี้โอกาสประเทศไทย ปรับตัวสู่ศักยภาพ

2024-08-22 HaiPress

เปิดเวที "เดลินิวส์ ทอล์ก 2024" ก้าวต่อไปของประเทศไทย "พิชัย" รองนายกฯ-รมว.คลัง ชี้โอกาสประเทศไทย ต้องปรับเปลี่ยน สู่ระดับศักยภาพในอนาคต

วันที่ 21 ส.ค. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์ ได้จัดงานเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” (Dailynews Talk 2024) ในหัวข้อ “THAILAND : FUTURE AND BEYOND… ก้าวต่อไปของประเทศไทย” ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567

คุณปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่เดลินิวส์ ได้เดินทางครบรอบมาจนถึงปีที่ 60 จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ ในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการจัดงานเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” (Dailynews Talk 2024) ในหัวข้อ “THAILAND : FUTURE AND BEYOND… ก้าวต่อไปของประเทศไทย” ซึ่งถือเป็นเวทีเสวนา ครั้งที่ 3 ของปีนี้

โดยต้องยอมรับว่าเวลานี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญแรงท้าทายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มากมาย แม้ว่าล่าสุดทางสภาพัฒน์จะยังคงการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ไว้เท่าเดิมที่ 2.5% ก็ตาม แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกมากมาย

ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลทั้งในด้านนโยบายภาคการลงทุน ภาคการส่งเสริมการส่งออก ภาคไฟแนนซ์ ภาคการเงิน ภาคสินทรัพย์ดิจิทัล ภาคทองคำ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน บนเวทีนี้ จะได้ส่งต่อไปยังรัฐบาล ภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไป

งานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณพิชัย ชุนหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ถอดรหัส…โอกาสเศรษฐกิจไทย” ขณะเดียวกันยังมีหน่วยงานภาครัฐอย่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ โดย คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ,ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์,คุณโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์

คุณฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด,คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิงส์ จำกัด และ คุณพชรกฤษฎิ์ ชื่นชม ประธานบริหาร (CEO) บริษัท พชรกฤษฎิ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด มาร่วมกันนำเสนอมุมมองในทุกด้าน ผ่านเวทีเสวนาในหัวข้อ “ฝ่าลมต้านเศรษฐกิจ…สู่การเติบโตที่ยั่งยืน”

นายพิชัย ชุนหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ถอดรหัส…โอกาสเศรษฐกิจไทย” ระบุว่า จากกรณีที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้เปิดข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในไตรมาส 2 ปีนี้ที่ผ่านมาขยายตัว 2.3% และไตรมาสแรกที่ผ่านมาขยายตัว 1.6% โดยยังคาดการณ์ทั้งปี 67 ขยายตัวได้ 2.5%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากในปีที่ผ่านมา ขยายตัว 1.9% ซึ่งหากย้อนหลังไป 20 ปี จีดีพีขยายตัว 1.9-2% หากย้อนไปอีก 35 ปี จีดีพีขยายตัว 6-10% หลังจากนั้นวิกฤติต้มยำกุ้งเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 4-5% และเมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในไทยก็ตกลงมาอยู่ที่ 3% โดยศักยภาพไทยต้องเติบโตกว่านี้ คือ 3.5% และมองว่าศักยภาพของประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ถ้าไม่ได้ทำอะไรเลย เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในภาวะใกล้วิกฤติ

มาย้อนดูโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ได้พึ่งพาการส่งออก 70% แต่เมื่อการส่งออกและเกิดการบริโภคจะไม่เป็นปัญหา เพราะถ้าเกิดการผลิต จะเกิดการจ้างงาน และการบริโภค ซึ่งในเวลานี้การส่งออกเหลือสัดส่วน 65% ต่อจีดีพี ในส่วนที่หายไป 5% เท่ากับค่าจีดีพีมากถึงกว่า 1% ที่หายไป นั่นเท่ากับว่า การผลิตของไทยไม่สามารถตอบสนองตลาดได้ ไม่สามารถแข่งขันตลาดได้ เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็ว ซึ่งหมายถึงประเทศไทยปรับตัวไม่ทัน

ขณะที่ภาคเกษตรกรรม มีสัดส่วนต่อจีดีพี 10% แม้ปัจจุบันลดลงเหลือ 6% เพราะปรับตัวไม่ทัน และหากดูโครงสร้างปิรามิด ด้านบนสุดรายได้สูง รายได้ปานกลาง และฐานรากผู้ใช้แรงงาน จะทำอย่างไรให้แก้ปัญหาและให้ส่วนล่างเติบโต ถ้ายังไม่สามารถสร้างโอกาสไปพร้อมกันได้ จะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ประเทศได้

นายพิชัย กล่าวว่า จากปัจจุบันเศรษฐกิจโลกแบ่งข้างชัดเจน มีการย้ายฐานผลิต อาจเป็นโอกาสที่ประเทศไม่แบ่งข้างอย่างชัดเจน เช่น ประเทศไทย ด้วยจุดแข็งยุทธศาสตร์ของพื้นที่ ทะเลจีนใต้ เชื่อมแปซิฟิก อันดามัน ควรสร้างโอกาสไปตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง เพราะมีเงินมาก

แต่ประชากรในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านคนในโลก จากปัจจุบัน 8,000 คน โดยประชากรอาจเพิ่มไปอยู่ประเทศอินเดีย และแอฟริกา คนเกิดใหม่ คือ คนรายได้ต่ำ มองไปคือสินค้าความจำเป็นของคนรายได้ต่ำ ยังเป็นที่ต้องการ แม้กังวลเรื่องโลกร้อน

“ไทยมีโลเคชั่นที่ดี อยู่ใกล้ CLMV ถือเป็นประเทศเกิดใหม่ โดยโอกาสทางเศรษฐกิจ จับเทรนด์ใหม่ แม้มีปัญหาสังคมสูงวัยที่ต้องแก้ไข ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง คือ สังคมสูงวัยจำนวนมากขึ้น อาจให้คนหนุ่มสาวไปทำอย่างอื่น และให้คนสูงวัยนั่งทำงาน เช่น งานขายตั๋ว และมองว่าจัดระเบียบการทำงานใหม่”

คนที่จะเข้ามาลงทุนไทย เชื่อว่าคุณสมบัติพร้อมที่จะปรับได้ คนมาใหม่ต้องการลงทุนไทย แม้ไปลงทุนประเทศอื่นในอาเซียนแล้ว เพราะคนเข้ามาลงทุนอยากกระจายการลงทุนไปหลายประเทศ แต่ของประเทศไทยคนลงทุนต้องการเห็น ทำเลที่ตั้ง,กระบวนการทำงานอนุมัติเร็วขึ้น ease of doing business และเรื่องเทรนนิ่ง คนมีทักษะสูง

“โอกาสของไทยเป็นอย่างไร การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอาจมาเร็วกว่าเดิม การปรับเปลี่ยนทรานสิชัน จากสมัยเก่าสู่สมัยใหม่เป็นเรื่องสำคัญ แม้ปัจจุบันสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นได้อยู่รอดเหลือน้อย แต่ไทยต้องปรับเปลี่ยน และจะทำอย่างไรให้คนใหม่เข้ามาลงทุน”

นายพิชัย กล่าวต่อว่า เทรนด์เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ จากข้อมูลการลงทุนมีการขอบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ สูงขึ้น 3 ปีนี้ มีมูลค่า 2 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 6 แสนล้าน มูลค่าลงทุนกลับไปใกล้กับในอดีต โดยมีการเข้ามาลงทุนโดยตรง หรือ FDI จะลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำเป็นเจ้าของแบรนด์ และทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องเข้ามาลงทุนอีกจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับตัวต้องสูญเสีย แต่ถ้าเกิดการวางแผนจะทำให้เกิดผลกระทบน้อย และเป็นโอกาสเศรษฐกิจไทย ที่มองว่าจะมีเทคโนโลยีเป็นโครงสร้างพื้นฐาน

เทคโนโลยีในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 1 ใน 3 และโลกเปลี่ยนไป มีทั้งเรื่องกรีน และดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยยังมีการปล่อยคาร์บอนสูง จาก 10 ปีที่ผ่านมามากถึง 360 ล้านตัน ซึ่งจะต้องลด 30% ให้ได้ในปี 2030 เชื่อว่าไทยจากเป็นประเทศต้องซื้อคาร์บอนเครดิต กลายเป็นผู้นำอาเซียนส่งออกคาร์บอนเครดิต เพราะเรียนรู้ตื่นตัวก่อน ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยได้สนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อมและกรียน เช่น กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 แสนกว่าล้านบาท และกองทุน THAI ESG สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษี 3 แสนบาท

อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยจะมีจีดีพี 1.9% แต่กลับมีสภาพคล่องในประเทศเหลือเยอะ เพราะเมื่อไม่ลงทุน ลงทุนน้อย เงินสดจะมีมาก คืนหนี้แล้วก็ยังเหลือเงินอยู่ และมีโอกาสมาลงทุนหุ้นต่อ แต่ถ้าไม่รีบทำไม่รีบเดินเรื่องการลงทุน จะยิ่งแก้ไขยากขึ้น

ส่วนภาพอสังหาริมทรัพย์ในไทย ในปัจจุบันมีการลงทุนที่ใหญ่มากขึ้น แต่มีปัญหาในเรื่องการขายที่ดินที่จะเป็นเพียงการให้เช่า 30 ปีเท่านั้น และเงื่อนไขการเช่ามักมีปัญหาตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อต่างชาติเข้ามาเช่าที่ดินในการดำเนินธุรกิจ จะให้สิทธิการเช่าเพียง 30 ปี เชื่อว่าไม่ตอบโจทย์ต้องมากกว่า 30 ปี และต้องให้สิทธิเสมือนใกล้เคียงความเป็นเจ้าของ เพื่อให้สามารถทำธุรกิจ รวมถึงการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินได้สะดวกมากขึ้น ดังนั้นที่ผ่านมา จึงพยายามออกกฎหมาย ทรัพย์อิงสิทธิ เพื่อเอื้อในเรื่องดังกล่าวด้วย

“ทั้งหมดเกิดขึ้นกับประเทศไทย ปัญหา และอะไรคือโอกาส ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ ได้ปรับเปลี่ยน ประเทศไทยไม่แพ้ใคร ไทยมีพื้นฐานที่ดี เป็นโอกาสการหยิบฉวยเกิดขึ้นได้ เป็นจริงขึ้นได้ สร้างการเจริญเติบโตประเทศ การนำสิ่งนี้มากำหนด Vision ประเทศ เกิดจากความฝัน นำมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นและประสบผลสู่ความยั่งยืน”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 ข่าวเทคโนโลยีธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap