วิกฤติควันพิษข้าวโพดอาหารสัตว์ ต้นตอ PM 2.5

2024-06-17 HaiPress

วิกฤติควันพิษข้าวโพดอาหารสัตว์ ต้นตอ PM 2.5 ปัญหาเรื้อรังระดับประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทย มีการใช้พื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ เพื่อปลูกข้าวโพด โดยร้อยละ 95 เป็นข้าวโพดเพื่อทำอาหารสัตว์ พื้นที่ปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่อยู่บริเวณเชิงเขาและลาดชัน ดังนั้นการเผาจึงเป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้เพื่อกำจัดเศษวัชพืชหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศ หรือฝุ่น PM 2.5 ที่สร้างผลกระทบต่อคนไทยอย่างรุนแรงและหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนั้นการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ยังพบว่ามีการปลูกในพื้นที่ป่า ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การทำลายพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมถึงการเร่งให้เกิดภาวะโลกรวน

“อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM 2.5 เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ทำให้เห็นแล้วว่า อุตสาหกรรมนี้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตอย่างไร จากการศึกษาพบว่ายังมีช่องว่างของนโยบายในการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวโพด ที่ยังมีการปลูกในพื้นที่ป่า และเกี่ยวข้องกับการเผา ตลอดจนการใช้สารเคมีอันตรายในขั้นตอนการปลูกที่ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรและชุมชนแวดล้อม รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นพื้นที่สำหรับสัตว์ป่าหลายชนิด”

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า หากลงไปค้นดูถึงเบื้องหลังของปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 นี้ ก็จะพบว่าเกิดจากความต้องการอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย และความทะเยอทะยานของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพื่อไปป้อนโลก ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทย และอนุภูมิภาคกลุ่มแม่น้ำโขง พื้นที่ปลูกข้าวโพดในไทยขยายตัวเต็มที่อยู่คงที่ประมาณ 7 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวโพดในเมียนมาขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเขตรัฐฉานที่ติดกับชายแดนไทย ซึ่งเป็นแหล่งขนส่งข้าวโพดมายังประเทศไทย

“มลพิษฝุ่นควันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีความซับซ้อน ภายใต้สังคมเหลื่อมล้ำและมีผลประโยชน์ทับซ้อน พ.ร.บ.อากาศสะอาดต้องแก้ปัญหาได้จริง ไม่เป็นแค่เสือกระดาษ” 

ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 58 ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การประกาศนโยบายของรัฐบาลล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่หนุนไทยเป็นผู้นำโลกในการผลิตและส่งออกอาหารสัตว์เพื่อรองรับตลาดโลก เพิ่มมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท ก็สอดคล้องกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ฟาร์มที่กำลังเติบโตขึ้น ทั้งนี้ในแต่ละปี มีสัตว์ฟาร์มทั่วโลกกว่า 80,000 ล้านตัว (ไม่นับรวมสัตว์น้ำ เช่น ปลา หรือ กุ้ง) และ 2 ใน 3 ของสัตว์ฟาร์มเหล่านี้ อยู่ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรม เราต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดมากมายมหาศาลขนาดไหน จึงจะเพียงพอต่อการป้อนสู่ระบบฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสัตว์ที่มีชีวิตทุกข์ทรมาน มีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ แออัดอยู่ในฟาร์ม การใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาล ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดล้วนเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 ข่าวเทคโนโลยีธุรกิจไทย      ติดต่อเรา   SiteMap